Subscribe:

วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

ปลาสเตอร์เจียน Sturgeon


ปลาสเตอร์เจียน

ชื่ออังกฤษ: Sturgeon, รัสเซีย: Oсетр, จีน: 鱘
เป็นปลากระดูกแข็งขนาดใหญ่ในวงศ์ Acipenseridae ในอันดับ Acipenseriformes อาศัยได้อยู่ทั้งน้ำจืด, น้ำกร่อย และทะเล เมื่อยังเล็กจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด ทะเลสาบหรือตามปากแม่น้ำ แต่เมื่อโตขึ้นจะว่ายอพยพสลงสู่ทะเลใหญ่ และเมื่อถึงฤดูวางไข่ก็จะว่ายกลับมาวางไข่ในแหล่งน้ำจืด


ปลาสเตอร์เจียน เป็นปลาที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข่ปลา
ที่เรียกว่า ไข่ปลาคาเวียร์ ซึ่งนับเป็นอาหารราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งของโลก


ปลาสเตอร์เจียน มีรูปร่างคล้ายปลาฉลาม มีหนามแหลมสั้น ๆ บริเวณหลัง หัว และเส้นข้างลำตัวไว้เพื่อป้องกันตัว มีหนวดทั้งหมด 2 คู่อยู่บริเวณปลายจมูก ปลายหัวแหลม ปากอยู่ใต้ลำตัว ลำตัวไม่มีเกล็ด ภายในปากไม่มีฟัน ตามีขนาดเล็ก


ซึ่งหนวดของปลาสเตอร์เจียนนี้มีหน้าที่สัมผัสและรับคลื่นกระแสไฟฟ้าขณะที่ว่ายน้ำ เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ด้านใต้ของลำตัว เพราะฉะนั้นหนวดเหล่านี้มีหน้าที่เหมือนมือที่คอยสัมผัสกับสิ่งของที่อยู่ข้างใต้ของตัวเอง หากินตามพื้นน้ำโดยอาหารได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็กต่าง ๆ


สเตอร์เจียนจะพบแต่เฉพาะซีกโลกทางเหนือซึ่งเป็นเขตหนาวเท่านั้น ได้แก่ ทวีปเอเชียตอนเหนือและตะวันออก, ทวีปยุโรปตอนเหนือ และทวีปอเมริกาเหนือตอนบน เช่น อลาสกา, แคนาดา และบางส่วนในสหรัฐอเมริกา


สถานะปัจจุบันของปลาชนิดนี้ในธรรมชาติใกล้สูญพันธุ์เต็มที แต่ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในบางชนิด


ปลาสเตอร์เจียน มีทั้งหมด 27 ชนิด ใน 3 สกุล โดยชนิดที่ใหญ่ที่สุดคือ ปลาฮูโซ่ (Huso huso) พบในรัสเซีย สามารถโตเต็มที่ได้ถึง 5 เมตร หนักกว่า 900 กิโลกรัม และมีอายุยืนยาวถึง 210 ปี


นับเป็นปลาที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก เท่าที่มีการบันทึกมา และเป็นชนิดที่ให้ไข่รสชาติดีที่สุดและแพงที่สุดด้วย ส่วนชนิดที่เล็กที่สุดคือ ปลาสเตอร์เจียนแคระ (Pseudoscaphirhynchus hermanni) ที่โตเต็มที่มีขนาดไม่ถึง 1 ฟุตเสียด้วยซ้ำ


นอกจากนี้แล้ว ปลาสเตอร์เจียนยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย


ในประเทศไทย ปลาสเตอร์เจียนชนิด ปลาสเตอร์เจียนไซบีเรีย (Acipenser baerii) ได้มีการทดลองเลี้ยงในโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ดอยคำ


อันเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อำเภอเวียงแหง ที่หน่วยวิจัยประมงบนพื้นที่สูงดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผลการทดลองเป็นไปได้อย่างดี

ปลาช่อนอเมซอน Arapaima



ปลาอะราไพม่า
หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาไทยว่า ปลาช่อนอเมซอน เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arapaima gigas อยู่ในวงศ์ปลาตะพัด(Osteoglossidae) อยู่ในอันดับปลาลิ้นกระดูก (Osteoglossiformes) มีรูปร่างคล้ายปลาช่อนมาก (Channa stiata)  

เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่มาก เกล็ดมีขนาดใหญ่ มีสีดำเงาเป็นมัน ครีบบน ครีบล่าง มีตำแหน่งค่อนไปทางหาง มีแถบสีแดง-ส้ม ตัดกับพื้นสีดำ มีลำตัวค่อนข้างกลมและเรียวยาว ส่วนหัวมีลักษณะแข็งและมีน้ำหนักมาก ส่วนลำตัวด้านท้ายมีลักษณะแบนกว้าง ในขณะที่ปลายังเล็กพื้นลำตัวจะมีสีเขียวเข้ม และลำตัวส่วนที่ค่อนไปทางหางจะเป็นสีดำ และรูปร่างจะออกไปทางทรงกระบอก เมื่อโตขึ้นบริเวณลำตัวและส่วนที่ค่อนไปทางหาง ครีบ และหาง จะปรากฏสีชมพูปนแดงหรือสีบานเย็นประแต้มกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อจวนตัว ปลาอะราไพม่าจะใช้ส่วนหัวที่แข็งพุ่งชนและกระโดดใส่เมื่อความรุนแรงเพื่อป้องกันตัว


ปลาอะราไพม่า ไม่มีหนวดซึ่งแตกต่างไปจากปลาชนิดอื่น ๆ ในวงศ์เดียวกัน และเป็นปลาที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ไวมาก ภายในเวลาเพียง 1-2 ปี สามารถมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 3-5 เท่าได้ ปลาที่โตเต็มที่เท่าที่มีการบันทึกสถิติไว้คือยาว 4.5 เมตร น้ำหนักกว่า 400 กิโลกรัม

พบในแม่น้ำอเมซอนและลุ่มน้ำสาขาในทวีปอเมริกาใต้ โดยชาวพื้นเมืองจะเรียกว่า พิรารูคู (Pirarucu) ขณะที่ชาวพื้นเมืองที่ประเทศเปรูจะเรียกว่า ไพชี่ (Phiche) โดยปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ชาวพื้นเมืองใช้บริโภคกันในท้องถิ่น ในบางท้องที่มีการเพาะเลี้ยงกันเป็นปลาเศรษฐกิจ


ปลาอะราไพม่ากินอาหาร ได้แก่ ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร ในบางครั้งสามารถกินสัตว์เลือดอุ่นขนาดเล็กกว่าที่อยู่บนบก เช่น ลิง หรือ สุนัข หรือ นก ด้วยการกระโดดงับได้อีกด้วย


การขยายพันธุ์

จากการศึกษาพบว่า ปลาอะราไพม่าจะถึงวัยเจริญพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 4-5 ปีและจะมีอายุยืน มากกว่า 20 ปี ปลาเพศผู้ เพศเมีย สังเกตดูเพศจากภายนอกได้ยาก แต่ในฤดูผสมพันธุ์ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทวีปอเมริกาใต้ ปลาเพศเมียจะมีไข่ จะเห็นบริเวณท้องจะขยายใหญ่ขึ้นได้ชัดเจน ส่วนเพศผู้หัวและลำตัวจะสีเข้ม และสีแดงอมส้มแถบโคนหางได้ชัดเจน

ในฤดูวางไข่ ปลาวัยเจริญพันธุ์จะตีแอ่งสร้างรังใต้น้ำ ในระดับความลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตร ในบริเวณพื้นที่เป็นทราย แล้วนำหญ้า หรือพืชน้ำมาสร้างเป็นรัง พ่อแม่ปลาจะช่วยกันสร้างรัง จากนั้นตัวเมียจะวางไข่ แม่ปลา 1 ตัวสามารถมีไข่ได้เป็นหมื่น ๆ ฟอง และจะฟักเป็นตัวในเวลาประมาณ 3-4 วัน แม่ปลาจะฟักไข่หรือดูแลตัวอ่อนไว้ในปาก ส่วนพ่อปลาจะช่วยป้องกันอันตรายจนกว่าลูกปลาจะแข็งแรง และช่วยตัวเองได้ แม่ปลา 1 ตัว (อายุ 4 - 5 ปี) ที่สมบูรณ์เต็มที่ สามารถวางไข่ได้ถึง 180,000 ฟอง ไข่ของปลาชนิดนี้ มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1/8 - 1/4 นิ้ว


ปลาอะราไพม่า เป็นปลาที่ได้รับความนิยมในแง่ของการเป็นปลาสวยงาม ซึ่งมีจุดเด่นคือ ความใหญ่โตในรูปร่าง ซึ่งปลาอะราไพม่าจัดได้ว่าเป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดความยาวที่สุดในโลก (ปลาบึก (Pangasianodon gigas) ที่พบในแม่น้ำโขง มีความยาวสั้นกว่า แต่มีน้ำหนักตัวที่มากกว่า) ในประเทศไทยปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามาครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2529 และได้รับความนิยมสูงสุดในปี พ.ศ. 2530 ตราบจนปัจจุบัน ซึ่งปลาอะราไพม่าแม้จะมีพฤติกรรมการกินอาหารที่ดูดุร้ายก็ตาม แต่เมื่อนำมาเลี้ยงในสถานที่เลี้ยงแล้ว แม้ในปลาขนาดใหญ่กลับไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าวกับมนุษย์เลย ผู้เลี้ยงสามารถลงไปปล้ำไล่จับปลาเล่นได้ โดยที่ปลาไม่ขัดขืนหรือทำอันตรายใด ๆ ปัจจุบัน สามารถเพาะขยายพันธุ์ในบ่อดินขนาดใหญ่ได้แล้ว ในประเทศมาเลเซียและไทย


ในตำนานและวัฒนธรรมร่วมสมัย

ปลาอะราไพม่าเป็นปลาที่ปรากฏในความเชื่อของชนพื้นเมืองอเมริกาใต้ โดยมีชื่อเรียกว่า "พิรารูคู" พิรารูคูเป็นบุตรชายของหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงที่มีความโหดร้ายและหยิ่งผยอง พิรารูคูไม่นับถือเทพเจ้า เทพเจ้าสูงสุดจึงพิโรธ แต่พิรารูคูไม่หวั่นไหว เมื่อพิรารูคูไปตกปลา เทพเจ้าสูงสุดจึงใช้สายฟ้าดึงเขาตกลงไปในแม่น้ำ และสาบให้เขากลายเป็นปลาใหญ่ไป


ในวัฒนธรรมร่วมสมัย ปลาอะราไพม่าได้ปรากฏอยู่ในเกมสตรีตไฟเตอร์ 2 เป็นเครื่องประดับในฉากของคาร์ลอส บลังกา ร่วมกับงูอนาคอนดา

ปลาปากจระเข้ Alligator gar



ปลาจระเข้ หรือปลาปากจระเข้

  • มีชื่ออังกฤษเท่ห์ๆว่า Alligator gar
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepisosteus spatula
เป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มปลาการ์ มีปากคล้ายกับจระเข้รูปร่างกลมยาว ตากลมสีดำ บริเวณลำตัวจรดหางคล้ายปลา มีครีบเล็กใต้ท้อง 2 ครีบคู่ ใต้ท้องสีขาว บริเวณปลายหาง ใกล้หางมีครีบใหญ่อีก 2 ครีบ เป็นปลาพื้นเมืองของสหรัฐอเมริกา แถบฟลอริดา แถบลุ่มแม่น้ำมิซิซิปปี้ ขนาดเมื่อโตเต็มวัยประมาณ 350 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 127กิโลกรัมมีอายุยืนยาว

ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีชื่อปลาชนิดนี้แทบไม่คุ้นหูคนไทยส่วนใหญ่ เพราะมันไม่ใช่ปลาท้องถิ่นบ้านเรานี่ จะได้เจอทีก็ตามอแควเรี่ยมใหญ่ๆ หรือตามบ้านนักเล่นปลากระเป๋าหนัก

แต่ปัจจุบันสมัยนี้น้ำท่วมทีก็มีการปรากฏกายของปลาชนิดนี้ให้พบเห็นเป็นข่าวหน้าหนึ่งอยู่เสมอ ไม่ว่าตามแม่น้ำลำคลองท้องทุ่งนา แม้กระทั่งบ่อตกปลาก็นำมาเป็นเกมส์กีฬาท้าทายนักตกปลาผู้กระหายโทรฟี่ปลาแปลก สุดท้ายบ้านเราก็มีปลาต่างด้าวร่วมผืนน้ำของไทยเราเพิ่มมาอีกหนึ่ง

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

Alien Species คือ?


Alien Species คือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานไม่ใช่เอเลี่ยนที่อยู่ในภาพยนตร์แต่มันมาเพื่อรุกรานเหมือนกัน กำลังถูกพูดถึงบ่อยมากในระยะหลัง ตั้งแต่พบการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในจำนวนมากจนน่าตกใจ ซึ่งผลทำให้สิ่งมีชีวิตในท้องถื่นลดจำนวนลงเกือบสูญพันธุ์ ปัญหาดังกล่าวสร้างความวิตกให้คนทั่วโลก แม้แต่ประเทศไทยที่ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ แต่หากปล่อยให้ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานต่อไป เกรงว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตในประเทศได้ในเวลาไม่นาน



หลายคนยังคงมีความสงสัยเกี่ยวกับว่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นคืออะไร ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานคืออะไร เมื่อทำการศึกษาค้นคว้าก็พบว่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Introduced species or Exotic species) คือ ชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยปรากฎในเขตชีวภูมิศาสตร์หนึ่งมาก่อน แต่ถูกนำมาแพร่กระจายมาจากที่อื่นด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง และสามารถดำรงชีวิต สืบพันธุ์ได้ในพื้นทีนั้น



ส่วน”เอเลี่ยนสปีชีย์ “(Invasive species or Alien species) คือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นฐานและสามารถยึดครองจนเป็นชนิดเด่นในพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัยของประชาชนด้วยหากไม่มีการควบคุมและจัดการอย่างเหมาะสม




ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นแต่ละชนิดมีถิ่นอาศัยที่มีความเฉพาะตัวในด้านการกระจายทางภูมิศาสตร์ ซึ่งการแพร่กระจายของมันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร สภาพภูมิประเทศและสิ่งที่อยู่แวดล้อมต่างๆ ที่ได้ปรับตัวให้เหมาะสมแล้ว ซึ่งเวลาในการปรับตัวอาจจะใช้เวลานานนับพันปีขึ้นไป แต่เมื่อไรที่มีการนำเอาสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆออกมาจากถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมของมัน และนำไปปล่อยยังพื้นที่อื่นที่ไม่เคยมีสัตว์ชนิดนั้นมาก่อน สิ่งมีชีวิตนั้นก็จะกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นซึ่งอาจจะมีผลกับการเป็นอยู่ของตัวมันเองเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ผิดไปจากเดิม หรืออาจมีผลกับแหล่งน้ำหรือสิ่งมีชีวิตเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ



1) ประเภทที่ไม่รุกราน ชนิดพันธุ์ที่ไม่มีผลกระทบต่อสิง่มีชีวิตอื่นๆ หรือระบบนิเวศโดยตรงหรือชัดเจนนัก ดำรงชีวิตแบบไม่แข่งขันหรือขัดต่อต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นหรือสมดุลของนิเวศ ตัวอย่างเช่น ปลานิล ปลาไน และปลาจีน รวมถึงปลาเศรษฐกิจต่างๆที่มีการปล่อยลงแหล่งน้ำ ส่วนอีกประเภทคือ




2) ประเภทที่รุกราน เป็นชนิดที่แพร่พันธุ์ได้รวดเร็วและมีความสามารถในการปรับตัวแข่งขันแทนที่ชนิดพันธุ์พื้นเมืองได้ดี และยังมีการดำรงชีวิตที่ขัดขวางหรือกระทบต่อสมดุลนิเวศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบชนิดพื้นเมือง หรืออาจเป็นศัตรูต่อผลผลิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางเกษตรได้ ตัวอย่างเช่น ปลากดเกราะ ปลาดุกแอฟริกัน(ปลาดุกรัสเซีย) และหอยเชอร์รี่



สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่มีการแพร่กระจายมากที่สุดคือสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์น้ำ การที่สัตว์ต่างถิ่นจะเข้าไปอาศัยในธรรมชาติได้นั้นเกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ 2 วิธีใหญ่ๆคือ โดยไม่ตั้งใจ เช่นการหลุดหนีจากที่เลี้ยง อุบัติเหตุขณะขนส่ง และภัยธรรมชาติจนทำให้ที่เลี้ยงพังทลาย ส่วนโดยตั้งใจ เป็นการปล่อยเพื่อวัตถุประสงค์ของมนุษย์โดยตรง เช่น เพื่อการทำบุญตามความเชื่อ ปล่อยทิ้งเนื่องจากเบื่อที่จะเลี้ยง หรือประสบปัญหาขาดทุนในการเพาะเพื่อการค้า การปล่อยทิ้งเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมจากเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะสัตว์น้ำที่นำเข้าและครอบครองอย่างผิดกฏหมาย การปล่อยโดยหน่วยงานราชการเองเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการเพิ่มผลผลิตแหล่งน้ำในธรรมชาติและที่ถูกสร้างขึ้น หรือการปล่อยตามพิธีการและโครงการต่างๆ



ในปัจจุบันได้มีการนำเข้าสัตว์และพืชต่างถิ่นเข้ามาเพาะเลี้ยงในประเทศไทยมากมายหลากหลายชนิด บางชนิดนำเข้ามาเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอาหาร บางชนิดนำเข้ามาเพื่อใช้ในด้านการสันทนาการ และเมื่อเลิกเลี้ยงหรือโดยอุบัติเหตุก็มักหลุดกระจายไปไปยังแหล่งน้ำ ป่าบริเวณใกล้เคียงทำให้ปะปนกับสิ่งมีชีวิตพื้นเมืองในธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและระบบนิเวศของประเทศ


จากการสำรวจของนักวิชาการพบว่าสัตว์ต่างถิ่นที่พบในเมืองไทยมีสัตว์ต่างถิ่น มากกว่า 3500 ชนิด ส่วนมากจะเป็นสัตว์น้ำ และพืชต่างถิ่นมี 14 ชนิด โดยมี 7 ชนิดอยู่ในบัญชีของพืชต่างถิ่นที่ร้ายแรงของโลกประกอบด้วย ผักตบชวา ไมยราบยักษ์ หญ้าคา อ้อ ขี้ไก่ย่าน ผกากรอง และกระถิ่นยักษ์



เมื่อสัตว์ต่างถิ่นหลุดเข้าไปอยู่ในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลกระทบทางตรงเป็นผลกระทบเห็นได้ชัดเจนและรุนแรงในระยะเวลาอันสั้น จากการแพร่พันธุ์สร้างประชากรอย่างรวดเร็วและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมสร้างผลกระทบต่อสมดุลนิเวศ ได้แก่



-เป็นผู้ล่าต่อสัตว์พื้นเมืองเดิม (Predator) มักเป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่หรือมีการรวมฝูง ทำให้จำนวนชนิดเปลี่ยนแปลงและก่อผลเสียต่อสมดุลนิเวศในภายหลัง เช่น ปลาดุกรัสเซีย



-เป็นตัวแก่งแย่ง (Competitor) โดยเป็นผู้แก่งแย่งถิ่นที่อยู่อาศัย อาหารและพื้นที่สืบพันธุ์ ทำให้ชนิดที่อ่อนไหวสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ เช่น ปลานิล ปลาPeacock Bass ปลาหมอบลัตเตอร์




-นำโรคหรือปรสิต (Disease and parasite carrier) สัตว์บางชนิดมีโรคหรือปรสิตเดิมที่มันสามารถทนทานได้ดีอยู่แล้ว แต่สัตว์พื้นเมีองไม่มีความต้านทานดังกล่าว เมื่อเข้าไปอยู่อาศัยอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคระบาดและปรสิตได้ เช่น ปลาจีนเป็นพาหะนำโรคหนอนสมอและราปุยฝ้าย หอยเชอร์รี่เป็นพาหะกลาง (Intermediate Host) ของพยาธิ Angiostoma มาสู่มนุษย์



-รบกวนหรือทำลายสภาพนิเวศ (Habitat Disturbance) สัตว์บางชนิดเป็นผู้ล่าหรือผู้ถูกล่า เมื่อองค์ประกอบระหว่างผู้ล่าและผู้ถูกล่าเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการเพิ่มเข้ามาของสัตว์ต่างถิ่น สมดุลทางนิเวศวิทยาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงส่งผลระยะยาว ตัวอย่างเช่นหอยเชอร์รี่ที่กัดกินต้น ใบอ่อนจนหมดและเกิดการเปลี่ยนสังคมพืชในแหล่งน้ำทำให้ความหลากหลายของสัตว์น้ำลดลงในเวลาต่อมา



-ก่อการเสื่อมทางพันธุกรรม (Genetic pollution, Erosion) สัตว์ต่างถิ่นบางชนิดมีลักษระพันธุกรรมใกล้เคียงกับสัตว์พื้นเมืองจนอาจมีการผสมข้ามพันธุ์เกิดเป็นลูกผสม ทำให้ลูกที่ออกมามีอัตราการรอดต่ำและเป็นหมันในรุ่นต่อ ความหลากหลายทางพันธุกรรมเดิมเสื่อมลง เช่น ปลาดุกรัสเซียและลูกผสม(ปลาดุกบิ๊กอุย) ที่มีการปนเปื้อนกับพันธุกรรมของปลาดุกด้านหรือปลาดุกอุย เป็นต้น

ข้อมูลดีๆจาก http://www.vcharkarn.com/